วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

การเล่นเพลงฉ่อย

การเล่นเพลงฉ่อย  จะมีการปรบมือให้จังหวะ  เนื้อเพลงนั้นคล้ายกับ  เพลงพวงมาลัยและเพลงนี้ก็จะต้องจบลงด้วยสระไอทุกคำกลอนเช่นกัน  แต่เมื่อจะถึงบทเกี้ยว  ลักษณะเพลงจะคล้ายเพลงเรือลูกคู่นอกจากจะคอยปรบมือให้จังหวะแล้ว  ก็จะต้องรับตอนจบว่า
          “ชา  เอ๋  ฉา  ชา  หน่อย  แม่  เอย”
     สำหรับแม่เพลงก่อนจะขึ้นบทใหม่ทุกครั้งต้องขึ้นว่า
          “โอง  โงง  โง  โฮะ  ละ  โอ่  โง๋ง  โง๋ย”   ในบทหนึ่งจะว่ายาวสักเท่าไรก็ได้


วิธีเล่นเพลงฉ่อย     ผู้แสดง  แบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  มีพ่อเพลงและแม่เพลง  เริ่มด้วยการไหว้ครู  ใช้กลอนเพลงอย่างโคราช  การร้องจะมีต้นเสียงและลูกคู่ร้องรับ   ดนตรีใช้การตบมือเป็นจังหวะ
การเล่นเพลงฉ่อยนั้นได้แยกแยะวิธีการเล่นออกไปอีกหลายอย่างโดยคิดผูกเป็นเรื่องสมมติขึ้นเพี่อหาทางใช้วาทศิลป์ได้แปลก ๆ เช่น  ชุดสู่ขอ  ลักหาพาหนี  ตีหมากผัว  และเชิงชู้เป็นต้น

ชุดสู่ขอ  จะต้องมีพ่อเพลงและแม่เพลงหลายคน  อย่างน้อยก็ฝ่ายละ  3 คือ  พ่อแม่  ของทั้งสองฝ่ายและตัวหนุ่มสาว  แสดงถึงการไปว่ากล่าวสู่ขอตามประเพณี  ซึ่งต่างก็จะใช้คารมโต้เถียงงอนกันไปเรื่อย  และมักสิ้นสุดลงด้วยความไม่สำเร็จ  อันเป็นต้นเหตุให้เกิดการลักหาพาหนี

ชุดลักหาพาหนี  เป็นการแสดงของชายหญิงเพียงฝ่ายละ 1 ใช้ศิลปะการร้องเพลงในการดำเนินเรื่องอย่างน่าฟัง  เช่น  ตอนจะลอบออกจากบ้าน  เข้าป่าชมดง  ซึ่งมีวิธีร้องเป็นทำนองเทศน์แหล่มหาพนบ้าง  ทำนองพุทธโฆษา  โล้สำเภาบ้าง

ชุดตีหมากผัว  นั้นก็คือการแสดงหึงหวงระหว่างสองหญิง  โดยมีพ่อเพลงคนหนึ่งแม่เพลงสองคน  สมมติว่าผู้หญิงเป็นคู่รักเก่าหรือภริยาเก่าไปพบชายคู่รักหรือสามีกำลังประโลมหญิงอื่นก็เกิดการหึงหวงทะเลาะวิวาทกัน

ชุดชิงชู้  มักเริ่มต้นด้วยชายหนึ่งไปพบหญิงผู้เป็นภรรยาผู้อื่นกล่าวเกี้ยวพาราสีแทะโลมจนหญิงตกลงใจตามไป  สามีเก่าตามไปพบเข้าก็เกิดการว่ากล่าวกันใหญ่โต  ซึ่งอาจจบเพียงนี้หรืออาจต่อไปถึงขั้นฟ้องร้องยังโรงศาล  โดยมีพ่อเพลงเป็นตัวตุลาการ อีกผู้หนึ่งมักเป็นนายอำเภอ   ดังนั้น  จากการได้แนวความคิดจากท่านผู้รู้ได้บันทึกไว้รวมทั้งจากการสังเกตจากโดยทั่ว ๆไป  เราอาจจะกล่าวได้ว่า  “เพลงฉ่อย”  เป็นการละเล่นพื้นเมือง อย่างหนึ่งของชายหญิงอันแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านพื้นเมืองนั้น ๆ ร้องโต้ตอบกัน  แก้กันในความหมายต่าง ๆ ส่วนมากเป็นการประคารม คำร้องเป็นลักษณะกลอนอย่างปรบไก่  แรกเริ่มฝ่ายชายเกริ่นขึ้นต้นด้วยเสียงเอื้อน
     “โอง-โงง-โงย-ฉะโอง-โงง-โงย”  แล้วชักชวนให้ผู้หญิงโต้ตอบกัน

การแต่งกาย     ผู้หญิงนุ่งโจงกระเบนตามแต่ถนัด ใส่เสื้อรัดรูปมีสีสันสะดุดตา ทัดดอกไม้  ฝ่ายผู้ชายนุ่งโจงกระเบน  เสื้อคอกลมสีต่าง ๆ

โอกาสที่แสดง     มักนิยมเล่นในงานเทศกาล หรืองานรื่นเริงของหมู่บ้าน ในวงการมหรสพต่าง ๆเช่น งานปีใหม่  ทอดกฐิน  นำมาเป็นรายการแสดงก็มี



บรรณานุกรม : http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=378

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น